พญาช้างฉัททันต์
ในสมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว มีสระใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง กว้างยาว 52 โยชน์ ลึกราว 12 โยชน์ สระแห่งนี้มีชื่อว่าฉัททันต์ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสระนี้มีต้นไทรใหญ่อยู่ด้านหนึ่ง และทางด้านตะวันตกมีถ้ำทองที่มีชื่อว่า กาญจนคูหา ในครั้งนั้น มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชื่อว่า พญาฉัททันต์ ได้อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ๆ สระแห่งนี้ เว้นแต่ในฤดูฝนอันเป็นเวลาที่พญาฉัททันต์ หลบฝนเข้าไปอยู่ในกาญจนคูหา
ลักษณะของพญาฉัททันต์กล่าวว่า สูงถึง 88 ศอก ยาว 120 ศอก งวงยาว 58 ศอก งาวัดโดยรอบโต50 กำ และมีรัศมี 6 อย่าง จึงได้นามว่า ฉัททันต์ ผิวกายมีสีขาวดั่งสีเงิน งาขาวดั่งเงินยวง งวง หาง และ เล็บแดง สันหลังแดง มีพละกำลัง เดินตั้งแต่เช้าไปไม่ทันสายได้ระยะทางถึง 3,610,350 โยชน์ นับว่าเดินเร็วมากทีเดียว พญาช้างฉัททันต์มีบริวารถึง 8,000 เชือก มีมเหสีชื่อ จุลสุภัททาและมหาสุภัททา เป็นช้างเผือกเหมือนกัน
เรื่องราวของพญาช้างฉัททันต์นี้ พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ในขณะที่เสด็จประทับอยู่ที่เชตุวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี พระองค์ได้ทรงปรารภถึงภิกษุณีสาวรูปหนึ่งซึ่งมาฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง แล้วมีอาการหัวเราะแล้วร้องไห้ พระองค์จึงแย้มพระโอษฐ์ ให้ปรากฏแก่ภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นทูลถามถึงสาเหตุ พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าเรื่องราว ดังต่อไปนี้
ภิกษุณีรูปนี้เป็นธิดาของผู้มีตระกูลในเมืองสาวัตถี เมื่อออกบวชในพุทธศาสนาแล้วได้มาฟังธรรมเทศนาพร้อมภิกษุณีทั้งหลาย สาเหตุที่ภิกษุณีแสดงอาการเช่นนั้นเนื่องจากในขณะที่นางฟังธรรมเทศนา อยู่นั้น นางได้เพ่งดูความสง่างามผุดผ่องของพระพุทธองค์ แล้วระลึกไปถึงชาติก่อนๆ ว่านางเคยเป็น บาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้หรือไม่ ก็ระลึกได้ว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เป็นช้างฉัททันต์ นางเคยเป็นคู่ครองของพญาช้าง ก็บังเกิดความปิติยินดียิ่งจนไม่อาจสะกดไว้ได้ ถึงกับหัวเราะออกมาดังๆ แต่ครั้นมาหวนคิดได้ว่าอีกชาติหนึ่งนางเคยใช้ให้นายพรานโสณุดร ยิงพญาช้างด้วยลูกศรอาบยาพิษ พร้อมทั้งให้ตัดงาอันมีรัศมี 6 สี ทั้งคู่มาให้นางจนเป็นเหตุให้พญาช้างสิ้นชีวิตลง เพราะความอาฆาตของนาง นางจึงบังเกิดความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ไม่อาจกลั้นความเศร้าโศกไว้ได้ ถึงกับสะอื้นไห้ออกมาดังๆ
พระคเณศ
พระคเณศ หรือ วิฆเนศวร หรือ พิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวฮินดูโดยทั่วไปแล้ว ในบรรดาประเทศที่เลี้ยงช้างในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย พระคเณศยังเป็นที่นับถือของพวกหมอเฒ่าซึ่งเป็นครูผู้โพนช้าง คล้องช้าง และฝึกสอนช้าง อีกด้วย
ในการโพนช้าง คล้องช้าง หรือการประกอบพิธีเกี่ยวกับช้าง ผู้กระทำพิธีจะต้องทำการบวงสรวงบูชาและนมัสการพระคเณศก่อน โดยนับถือพระองค์เป็นเทพประจำช้าง นอกจากนี้พระคเณศยังเป็นเทพเจ้าประจำศิลปวิทยาการอีกด้วย
พระคเณศเป็นโอรสองค์แรกของพระอิศวรและพระอุมา ในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ กล่าวว่า พระคเณศมิได้คลอดจากพระครรภ์ของพระมารดา แต่ถือกำเนิดโดยความปรารถนาของพระอิศวรและพระอุมา
พระคเณศมีรูปกายเป็นมนุษย์ อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย หูยาน มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว สีกายแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง) นุ่งห่มแดง มี 4 กร (บางแห่งว่ามี 8 กรบาง 2 กรบาง) พระหัตถ์ที่ 1 ทรงถือเปลือกหอย พระหัตถ์ที่ 2 ทรงถือจักร พระหัตถ์ที่ 3 ทรงถือไม้พลองหรือปฏัก พระหัตถ์ที่ 4 ทรงถือดอกบัว
สาเหตุที่พระคเณศมีเศียรเป็นช้างนั้น ในคัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะกล่าวว่า เมื่อพระอุมาได้ พระโอรสจากการทำพิธีปันยากพรต คือพิธีบูชาพระนารายณ์ ทวยเทพที่ทราบข่าวก็พากันมาแสดงความยินดี รวมทั้งพระศนิ (พระเสาร์) ซึ่งถ้ามองดูหน้าใครก็จะทำให้ผู้นั้นประสบความร้าย เมื่อพระศนิมองดูกุมาร ทันใดนั้นเศียรของกุมารก็ขาดจากศอกระเด็นหายไป เมื่อพระวิษณุ (พระนารายณ์) ทรงทราบก็เสด็จขึ้นครุฑไปยังแม่น้ำบุษปภัทร ทอดพระเนตรเห็นช้างนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือ ก็ทรงตัดเศียรช้างนั้นนำกลับมาต่อที่ศอกุมาร
ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีงาข้างเดียวนั้น ในคัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะกล่าวว่า พระคเณศทรงทำหน้าที่รักษาพระทวารขณะที่พระอิศวรทรงบรรทม ปรศุรามจะเข้าไปในพระราชฐานชั้นใน พระคเณศเข้า ขัดขวาง ได้มีการถกเถียงและต่อสู้กันขึ้น พระคเณศใช้งวงจับปรศุรามหมุนไปรอบๆ และเหวี่ยงไปจน ปรศุรามมึนศีรษะและหมดสติไป เมื่อปรศุรามรู้สึกตัวก็โกรธแค้นพระคเณศมาก จึงเอาขวานเพชรขว้างไปที่พระคเณศ พระคเณศจำได้ว่าขวานนั้นเป็นอาวุธของพระศิวะซึ่งประทานแก่ปรศุราม พระคเณศจึงน้อมรับด้วยความเคารพ ทันใดนั้นขวานเพชรก็ตัดงานข้างหนึ่งขาดกระเด็นไป พระคเณศจึงเหลืองาข้างเดียวนับแต่บัดนั้น
ช้างปาลิไลยกะ
ช้างปาลิไลยกะ เป็นช้างที่รู้จักกันดีในพระพุทธประวัติ เพราะเป็นช้างที่ได้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าตลอดพรรษที่ 10 นับตั้งแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาที่ป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาลิไลยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี หมู่บ้านนี้จึงมีความสำคัญในพุทธศาสนา
ช้างปาลิไลยกะเป็นช้างพลายหัวหน้าโขลงที่มีกำลังแข็งแรง ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายต่อการอยู่รวมกับช้างเป็นจำนวนมากในโขลง เพราะช้างเหล่านั้นประพฤติตนไม่อยู่ในระเบียบ ทั้งในเรื่องอาหารการกิน และการดำรงชีวิตอยู่ เช่น แย่งกินหญ้าหมด พญาช้างต้องกินต้นหญ้าที่เหลือ นอกจากนี้ช้างโขลงนั้นยังลงกินน้ำในแอ่งหรือสระก่อน และทำน้ำขุ่น พญาช้างต้องกินน้ำขุ่นๆ ช้างพังก็มักชอบเดินเสียดสีกายพญาช้าง เมื่อต้องลงไปท่าน้ำหรือขึ้นจากน้ำ ช้างปาลิไลยกะจึงตัดสินใจแยกตัวจากโขลงไปเป็นช้างโทนอยู่ตามลำพังเพื่อความสุขสงบของตนเอง
ในเวลาเดียวกันนั้น พระพุทธองค์ทรงเบื่อระอาภิกษุชาวโกสัมพี ที่ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องเล็กน้อย จึงทรงหลีกออกจากพระภิกษุไปแต่พระองค์เดียว จึงเสด็จไปทางหมู่บ้านปาลิไลยกะ ประทับอยู่ที่บริเวณ ใต้ต้นสาละที่ชายป่ารักขิตวัน จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น
หลังจากนั้นช้างปาลิไลยกะก็เดินทางไปถึงที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้เข้าไปทำความเคารพด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เนื่องจากเป็นช้างที่เฉลียวฉลาด เมื่อเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เพียงพระองค์เดียว ไม่มีสิ่งใดจะเป็นเสนาสนะของพระองค์ พญาช้างมีความปรารถนาที่จะปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
ช้างปาลิไลยกะได้ปรนนิบัติต่อพระพุทธเจ้าเช่นนี้เป็นประจำตลอดพรรษา คือเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงออกเดินทางต่อ โดยพญาช้างเดินตามมาขวางทางไว้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พญา-ช้างว่า พระองค์เสด็จไปแล้วไม่กลับมาอีก ขอให้พญาช้างหยุดเพียงนี้ พญาช้างมีความอาลัยจึงสอดงวงเข้าปากแล้วร้องไห้ เดินตามไปข้างหลังจนใกล้เขตหมู่บ้าน พระพุทธองค์ทรงบอกพญาช้างให้กลับเพราะต่อไปจะเป็นที่อยู่ของมนุษย์ จะมีอันตรายอยู่รอบข้าง พญาช้างจึงยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้น มองดูพระพุทธองค์ จนกระทั่งเสด็จห่างไปลับสุดสายตาแล้วจึงหัวใจวายสิ้นลงทันใด และเนื่องจากช้างปาลิไลยกะมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตร ชื่อ ปาลิไลยกะเทพบุตร อยู่วิมานทองสูง 30 โยชน์ในสวรรค์ดาวดึงส์ ในท่ามกลางนางอัปสรนับพัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น